เศรษฐกิจโลกปี 2025 เสถียรภาพกับความเสี่ยงที่แฝงอยู่
(VOVWORLD) - สถาบันการเงินและเศรษฐกิจรายใหญ่ในโลกประเมินว่า เศรษฐกิจโลกจะเติบโตอย่างมั่นคงในปีนี้ แต่ยังคงต้องเผชิญกับความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทางการค้าและความไม่มั่นคงทางภูมิรัฐศาสตร์
ในรายงานศักยภาพเศรษฐกิจโลกที่เผยแพร่เมื่อปลายเดือนตุลาคมปีที่แล้ว กองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือ IMF คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจโลกจะเติบโตร้อยละ 3.2 ในปีนี้ องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจหรือ OECD และธนาคารโลกหรือ WB ต่างก็มีการคาดการณ์ที่คล้ายคลึงกัน โดยอยู่ที่ตั้งแต่ร้อยละ 3-3.3
การผ่อนคลายความร้อนแรงของเศรษฐกิจ
ผลงานที่สำคัญๆในปี 2024 คือพื้นฐานเพื่อตั้งความคาดหวังต่อการเติบโตที่มั่นคงของเศรษฐกิจโลกในปีนี้ ซึ่งตามความเห็นของนาย มาเธียส คอร์มันน์ เลขาธิการองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจหรือ OECD ในปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจโลกได้ฟื้นตัวที่น่าทึ่ง เมื่ออัตราเงินเฟ้อในเศรษฐกิจใหญ่ๆได้ลดลงและเป็นไปตามเป้าหมายที่ธนาคารกลางต่างๆได้วางไว้คือร้อยละ 2 ในขณะที่การเติบโตยังคงมีเสถียรภาพ จากข้อมูลที่ IMF เผยแพร่ในรายงานล่าสุดเมื่อปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ก็เห็นได้ว่าอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยของโลกจะกลับมาอยู่ที่ร้อยละ 3.5 ในปลายปีนี้ หลังจากอยู่ในระดับสูงที่สุดคือร้อยละ 9.4 ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2022 ส่วน ณ ปัจจุบัน อัตราเงินเฟ้อในสหรัฐอยู่ที่ประมาณร้อยละ 2.7 ในเขตยูโรโซนที่ร้อยละ 2.2 และ ในอังกฤษคือร้อยละ 2.6
การเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงในช่วงสองปีที่ผ่านมาเพื่อรับมือภาวะเงินเฟ้อไม่ได้ทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่รุนแรงตามที่นักวิเคราะห์แสดงความกังวล ในขณะที่การใช้จ่ายด้านบริการและความต้องการแรงงานยังคงอยู่ในระดับสูง โดยตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปีที่แล้ว ธนาคารกลางสหรัฐหรือ Fed และธนาคารกลางยุโรปหรือ ECB ได้เริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยซึ่งถือเป็นการช่วยผ่อนคลายความอึดอัดของเศรษฐกิจโดยไม่ทำให้เกิดภาวะถดถอย ส่วนตามรายงานของ S&P Global ประเทศสหรัฐ สถานการณ์ดังกล่าวช่วยให้เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ปีนี้ด้วยสถานะที่ค่อนข้างดี แต่อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญบางคนมีความคิดเห็นที่ระมัดระวังว่า อัตราเงินเฟ้อในเศรษฐกิจใหญ่ๆยังไม่กลับไปสู่ระดับที่ตั้งไว้คือร้อยละ 2 แถมยังมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในช่วงเดือนสุดท้ายของปี ดังนั้น นโยบายปรับอัตราดอกเบี้ยยังคงต้องได้รับการปฏิบัติอย่างต่อเนื่องต่อไปควบคู่กับการเฝ้าติดตามความเสี่ยงต่อการเติบโตอย่างใกล้ชิด นาง รีเบกา กรินสแปน เลขาธิการการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนาหรือ UNCTAD แสดงความเห็นว่า
“เศรษฐกิจโลกกำลังอยู่ในสถานการณ์ที่มีแนวโน้มที่ดี แต่ก็ยังคงมีความน่ากังวล เพราะการเติบโตของเศรษฐกิจยังอยู่ในระดับต่ำ ปัญหาหนี้อยู่ในระดับสูง การลงทุนอ่อนแอ และการค้ากระจัดกระจาย”
เช่นเดียวกับความเห็นนี้ ในการกล่าวปราศรัยเกี่ยวกับนโยบายล่าสุดเมื่อปลายปีที่แล้ว ทั้งนาย เจอโรม พาวเวลล์ ประธาน Fed และนาง คริสติน ลาการ์ด ประธาน ECB ต่างแสดงความเห็นว่า ยังเร็วเกินไปเพื่อมีข้อสรุปเกี่ยวกับการรับมือภาวะเงินเฟ้อ และในปีหน้าอาจจะมีปัจจัยมากมายที่ยากจะคาดเดาได้เกี่ยวกับความขัดแย้งทางการค้า ดังนั้น ทั้ง Fed และ ECB จะควบคุมการปรับลดอัตราดอกเบี้ยให้ช้ากว่าที่คาดไว้ก่อนหน้านี้
สหรัฐคือ“ตัวแปร”
ในการคาดการณ์การเติบโตของ GDP โลกในปีนี้ OECD มีมุมมองในแง่ดีที่สุดโดยระบุว่า การเติบโตสามารถบรรลุถึงร้อยละ 3.3 ส่วน IMF เสนอตัวเลขที่ร้อยละ 3.2 ในขณะที่ธนาคารชั้นนำของสหรัฐ 2 แห่ง ได้แก่ Morgan Stanley และ Goldman Sachs มีการคาดการณ์ที่ระมัดระวังมากขึ้นคืออยู่ที่ร้อยละ 3 และร้อยละ 2.7 ตามลำดับ แต่อย่างไรก็ตามการคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจใหญ่ๆกลับมีความแตกต่างกันเช่น ธนาคาร Goldman Sachs ระบุว่า สหรัฐ ซึ่งเป็นเศรษฐกิจรายใหญ่ที่สุดในโลกจะมีการเติบโต GDP ดีกว่าประเทศที่พัฒนาอื่นๆ โดยอยู่ที่ร้อยละ 2.5 ในปีนี้ ซึ่งก็พอๆกับการคาดการณ์ของ OECD ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 2.4 ตามรายงานของ OECD จีนซึ่งเป็นเศรษฐกิจรายใหญ่อันดับ 2 ของโลกได้รับการคาดการณ์ว่า จะเติบโตร้อยละ 4.7 ส่วน WB คาดการณ์ว่า จะเติบโตร้อยละ 4.5 ในขณะเดียวกัน เศรษฐกิจเขตยูโรโซนได้รับการคาดการณ์ว่า จะเติบโตเพียงร้อยละ 1.3 และญี่ปุ่นเติบโตอยู่ที่ร้อยละ 1.5
แต่อย่างไรก็ตาม ตามความเห็นของบรรดาผู้สังเกตการณ์ สหรัฐยังถือเป็น“ตัวแปร” ในการเติบโตของเศรษฐกิจ ซึ่ง นาย เซธ คาร์เพนเตอร์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของมอร์แกน สแตนลีย์ แสดงความเห็นว่า ผลการเลือกตั้งในสหรัฐด้วยชัยชนะของนาย โดนัลด์ ทรัมป์ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนโยบาย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก เช่นเดียวกับความเห็นนี้ Goldman Sachs ระบุว่า GDP ของเขตยูโรโซนอาจเพิ่มขึ้นเพียง 0.8% ในปีนี้ เนื่องจากนโยบายและกฎระเบียบด้านภาษีศุลกากรใหม่ของสหรัฐ โดยเฉพาะถ้าหากมีความขัดแย้งทางการค้า นอกจากนี้ จีนได้รับการคาดการณ์ว่าจะได้รับผลกระทบนโยบายเก็บภาษีของรัฐบาลสหรัฐชุดใหม่ ดังนั้น GDP ในปีหน้าอาจเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 4.1 เท่านั้นตามการคาดการณ์ของ S&P Global แต่ผลกระทบไม่ได้เกิดขึ้นเพียงฝ่ายเดียว เศรษฐกิจสหรัฐก็จะได้รับผลกระทบเช่นกันถ้าหากเกิดสถานการณ์ที่นาย โดนัลด์ ทรัมป์ เรียกเก็บภาษีในระดับสูงต่อคู่แข่งทางเศรษฐกิจจนนำไปสู่ความขัดแย้งทางการค้าในวงกว้าง
ตามรายงานของธนาคาร Goldman Sachs ถ้าหากความไร้เสถียรภาพทางการค้าเพิ่มขึ้นอยู่ในระดับสูงเช่นเดียวกับในช่วงปี 2018-2019 GDP ของสหรัฐอาจลดลง 0.3% ในขณะที่เขตยูโรโซนและจีนจะลดลง 0.9% และ 0.7% ส่วนตามการประเมินขององค์กรวิจัย Capital Economics ประเทศอังกฤษ ความเสี่ยงของความขัดแย้งทางการค้าในปัจจุบันอยู่ในระดับปานกลางเท่านั้น เนื่องจากประเทศต่างๆจะหามาตรการตอบโต้ที่ไม่ทำให้ความตึงเครียดกับสหรัฐมีความรุนแรงมากขึ้น.